วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ตอนที่ 3 : รู้ทันงานบัญชีที่ต้องนำส่ง - กรมสรรพากร (ภาคต่อจากตอนที่ 2)

ซึ่งเราสามารถแยกเนื้องานที่นำส่งแก่ส่วนราชการดังต่อไปนี้
-
งานด้านสำนักงานประกันสังคม (กล่าวในตอนที่แล้ว)
- งานด้านกรมสรรพากร
- งานด้านสำนักงานกองทุนเงินทดแทน
- งานด้านกรมพัฒนาธุรกิจ

งานด้านกรมสรรพากร
ในแต่ละเดือนต้องไปกรมสรรพากร 2 ครั้งคือทุกวันที่ 7 นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย และ วันที่ 15 นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม

I.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งในบริษัทธรรมดาทั่ว ๆ ไปก็จะเกี่ยวข้องกับ
- ภงด.1 ได้แก่ ภาษีที่หักจากเงินเดือนของพนักงาน
- ภงด.3 ได้แก่ ภาษีที่หักจากผู้ที่เราจ่ายเงินให้ แต่เป็นบุคคลธรรมดา
- ภงด.53 ได้แก่ ภาษีที่หักจากผู้ที่เราจ่ายเงินให้ แต่เป็นบริษัทเหมือนกัน

ซึ่งขอขยายความคำว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือภาษีที่ผู้จ่าย มีหน้าที่หักภาษี และนำส่งให้กรมสรรพากร
ซึ่งถ้าคุณไม่หักไว้แล้วกรมสรรพากรมาตรวจเจอ คุณต้องรับผิดชอบเป็นผู้จ่ายภาษีในส่วนนี้แทน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้รับเงินมักจะขอไม่ให้หัก ณ ที่จ่าย อันนี้คุณเองก็ต้องแจ้งให้ผู้รับเงินทราบเลยว่าตรงนี้มันเป็นกฎหมาย พวกนี้มักชอบเลี่ยงภาษีดังนั้นคุณเองต้องเอากรมสรรพากรมาอ้าง เพราะในฐานะผู้ทำบัญชีแล้ว ส่วนใหญ่ฝ่ายจัดซื้อมักมาอ้างเสมอว่าผู้รับเงินไม่ยอมให้หักเพราะราคาถูกแล้ว อันนี้ยังไงดิฉันก็ไม่ยอมเนื่องจากเงินตรงนี้มันถือเป็นเงินที่เป็นเครดิตภาษีของผู้รับเงินอยู่แล้ว สิ้นปีถ้ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี เงินตรงนี้ขอคืนได้หมด แต่ถ้าต้องจ่ายภาษี เงินตรงนี้ก็นำมาใช้แล้วจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ทำบัญชีคิดว่ามันเป็นการดีกว่าด้วยซ้ำ
ภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายที่พบบ่อย ได้แก่
1. ค่าเช่า หัก ณ ที่จ่าย 5%
2. ค่าบริการ หัก ณ ที่จ่าย 3%
3. ค่าโฆษณา หัก ณ ที่จ่าย 2%
4. ค่าขนส่ง (ต้องจดประกอบการในฐานะขนส่งเท่านั้น) หัก ณ ที่จ่าย 1%

II.ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งก็คือ VAT นั่นเอง
เรื่องนี้ไม่ยาก แต่คนมักชอบหลีกเลี่ยงภาษีกัน ซึ่งดิฉันคิดว่ามันน่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดกันไป
เองซึ่งแบ่งเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ยังไง ๆ ก็ต้องขอบิล vat เท่านั้น ถ้าไม่ใช่บิล vat มันจะผิด ใช้ไม่ได้
2. ซื้อโดยไม่เอา vat ช่วยเปิดบิลโดยไม่เอา vat ทีนี้ผู้ขายก็อยากขายไงคะ ก็เลยเปิดบิลขายแบบที่เรียกกันว่าบิลหัวโล้น คือ ไม่มีชื่อ-ที่อยู่ผู้ขาย มีแต่รายการกับยอดเงิน ซึ่งข้อนี้น่ากลัว มีผลกระทบทางบัญชีของผู้ขายเองมากมาย โดยเฉพาะเรื่อง stock ของตนเอง จะรู้มั้ยเนี่ย

เรื่องนี้มันยาว เอาเป็นว่าขอสรุปรายการที่ต้องทำเพื่อนำส่งให้กรมสรรพากรนะคะ ซึ่งเราจะทำแบบ
ภพ.30 ซึ่งในบริษัทก็จะทำ
1. สรุปรายการภาษีขาย ต่อเดือน
2. สรุปรายงานภาษีซื้อ ต่อเดือน
เมื่อได้แล้วก็นำตัวเลขภาษีขาย หัก ภาษีซื้อ ก็จะได้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งให้กรมสรรพากร

“บัญชีง่ายนิดเดียว จริงปะ”

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550

(เรื่องเล่าตอนที่ 2):เปิดโปงสำนักงานบัญชีที่อาจทำให้กิจการของท่านล่มสลาย !!!!! ตอน : ทำความเข้าใจในการอ่านเรื่องราวใน blog !!!!!

จากตอนที่ 1 เราได้เปิดเผยเรื่องราวส่วนเล็กน้อยของกิจการที่ดำเนินงานรูปแบบของสำนักงานบัญชี เอาเป็นว่า สำหรับผู้ที่สนใจ Blog นี้ ผู้เขียนขอทำความเข้าใจเบื้องต้นดังนี้นะคะ
เราจะแบ่งเรื่องราวออกเป็น 2 ช่วง
1. เป็นสาระความรู้ที่มอบให้แด่เจ้าของกิจการ, ผู้ที่กำลังจะเปิดบริษัท, ผู้ที่ต้องการรู้เรื่องราวเกี่ยวกับบัญชีเบื้องต้นเพื่อใช้บริหารงาน, นักศึกษาที่จบใหม่ที่ต้องการความรู้ทางบัญชีในชีวิตจริงว่าในแต่ละบริษัทเค้าทำบัญชีกันอย่างไร ฯลฯ ซึ่งเราจะแบ่งเรื่องสาระออกเป็นตอน ๆ ตามความต่อเนื่องกันไป
2. เป็นเรื่องเล่า ซึ่งจะเป็นการเปิดเผยความน่ากลัวสำหรับท่านผู้ประกอบการที่ไม่เคยรู้เลยว่า งานที่สำคัญที่สุดที่คุณมอบหมายให้กับสำนักงานบัญชีดูแลนั้น ความน่ากลัวมันอยู่ตรงไหน กิจการของท่านจะล่มสลายได้จริงหรือ หรือว่าเป็นเพียงแค่เรื่องราวไร้สาระ ท่านก็คงต้องลองติดตามกันต่อไป ซึ่งขอรับรองเลยว่า ตัวหนังสือที่คุณได้อ่านนี้ เป็นเรื่องที่คุณเองไม่คาดคิดหรือคาดไม่ถึงว่า ปัญหาต่าง ๆ นั้น มันเกิดมาจากจุดนี้นี่เอง

ทั้งนี้ผู้เขียนขอแจ้งให้ทราบว่า การที่มาแลกเปลี่ยนความรู้ให้ทราบในครั้งนี้ ก็เพื่อให้ท่านผู้ประกอบการได้รับรู้ว่าท่านเองไม่ควรละเลยที่จะไม่รับรู้งานบัญชี หรือมั่นใจจนเกินไปในการเรียกใช้สำนักงานบัญชี คุณเองสามารถใช้บริการสำนักงานบัญชีได้ แต่คุณก็ต้องรู้ข้อดีข้อเสียในเบื้องต้นนี้ รวมถึงคุณเองก็ต้องพยายามทำความเข้าใจเรื่องราวของบัญชีด้วย เพราะขอยืนยันว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของทุกบริษัทฯ

ตอนที่ 2 : รู้ทันงานบัญชีที่ต้องนำส่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในแต่ละเดือน

เมื่อคุณเป็นเจ้าของกิจการแล้ว คุณควรรู้ว่านอกจากงานบริหารด้านการขายหรือให้บริการแล้ว สิ่งที่คุณเองต้องรู้ว่าใน 1 รอบปีนั้น งานบัญชีเค้าทำอะไรกันบ้าง เพราะเมื่อคุณรู้แล้ว คุณเองจะสามารถอุดรอยรั่วของปัญหาจากกรมสรรพากรหรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เอาหละเรามาสรุปง่าย ๆ ให้ได้ใจความกันเลย Letgo
เราสามารถแยกเรื่องราวทั้งหม ได้ดังนี้
1. งานที่ต้องนำส่งต่อเดือน
2. งานที่ต้องนำส่งกลางปี
3. งานที่ต้องนำส่งทุกสิ้นปี


ซึ่งเราสามารถแยกเนื้องานที่นำส่งแก่ส่วนราชการดังต่อไปนี้
1. งานด้านกรมสรรพากร
2. งานด้านสำนักงานประกันสังคม
3. งานด้านสำนักงานกองทุนเงินทดแทน
4. งานด้านกรมพัฒนาธุรกิจ


เรามาอธิบายประเด็นกันดีกว่า แต่ต้องขอบอกก่อนนะคะว่า ในรายละเอียดมันอาจจะแยะ เพราะเรื่องราวมันเยอะแยะตาแปะไปหมด ดิฉันเองอาจแบ่งเรื่องราวออกเพื่อให้ค่อย ๆ เรียนรู้ เพราะถ้าเขียนเนื้อหามากเกินไป อาจทำให้ผู้อ่านจะสับสนและงง

1. งานต่อเดือน แยกออกเป็น 2 ส่วน (ในที่นี้ขอกล่าวถึง report ที่ต้องนำส่งให้กับส่วนราชการ)
งานที่ต้องนำส่งสำนักงานประกันสังคม (นำส่งค่าประกันสังคมทุกไม่เกินวันที่ 28 ของเดือนถัดไป)
1.1 เมื่อคุณเปิดบริษัทและมีพนักงานมากกว่า 1 คนขึ้นไป คุณต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม โดยในแต่ละเดือนคุณต้องนำส่งเงินประกันสังคมทุกไม่เกินวันที่ 28 ของแต่ละเดือน โดยคุณเองสามารถเลือกที่จะไปจ่ายที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ ไปนำส่งที่สำนักงานประกันสังคม
1.2 ขอขยายความ 1.1 คือ เจ้าของกิจการเมื่อจ่ายเงินเดือน ต้องหักค่าประกันสังคมจากเงินเดือน 5% ของเงินเดือน แต่ถ้าเงินเดือนเกิน 15,000.- เช่น เงินเดือนพนักงาน 15,800.- นั่นไม่ใช่เอาเงินเดือนมาคำนวณนะคะ คือเพดานสูงสุดของค่าประกันสังคมพนักงาน = 750.- ต่อเดือนเท่านั้น
1.3 ขยายความต่อจาก 1.2 คือ เมื่อหักพนักงานไว้แล้ว 5% ในส่วนของบริษัทเองต้องสมทบเพิ่มอีก 5% เท่ากัน ก็คือ ค่าประกันสังคมพนักงานสำหรับเงินเดือน 15,800 (ตามตัวอย่างข้อ 1.2) บริษัทนำส่งค่าประกันสังคมทั้งสิ้น 750+750 = 1,500.- (ค่าประกันสังคมของบริษัทนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้)
1.4 เมื่อมีพนักงานเข้าทำงานใหม่ หรือ ลาออกจาก หรือพูดง่าย ๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทะเบียนพนักงานในบริษัท คุณต้องยื่นรายงานต่อสำนักงานประกันสังคมให้ทราบไม่เกิน 15 วันนับจากมีการเปลี่ยนแปลง
งานที่ต้องนำส่งกองทุนเงินทดแทนประจำปี (นำส่งทุกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ของทุกปี)
1.5 หลายท่านเองอาจไม่เข้าใจในเรื่องนี้นัก สรุปง่าย ๆ ว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ผู้จ่ายเงินคือ เจ้าของกิจการ ซึ่งทางกองทุนเงินทดแทนจะประเมินความเสี่ยงของธุรกิจคุณเป็น % แล้วคูณด้วยเงินเดือนรวมของพนักงานที่จ่ายใน 1 ปี ก็จะออกมาเป็นยอดเงินกองทุนเงินทดแทน
แต่มันยังมีเรื่องราวซ้อนกันอยู่ นั่นก็คือ เริ่มต้นด้วยต้นปี สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจะประเมินค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนรวมต่อปีก่อนในเบื้องต้น แล้วคุณเองก็จ่ายไปตามนั้น (เป็นการประเมินเงินเดือนที่คาดว่ากิจการคุณจะจ่ายใน 1 ปี) พอสิ้นปีคุณต้องเก็บตัวเลขเงินเดือนจ่ายจริง (คือดูได้จาก ภงด.1ก) เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขที่กองทุนเงินทดแทนประเมินไว้ ถ้าปรากฎว่า
1. ยอดเงินที่ประเมิน > ยอดเงินที่จ่ายจริง หมายความว่า คุณต้องได้รับเงินคืน
2. ยอดเงินที่ประเมิน < ยอดเงินที่จ่ายจริง หมายความว่า คุณต้องจ่ายเงินเพิ่ม

“บัญชีง่ายนิดเดียว จริงปะ”

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2550

แนะนำตัว และเปิดโปงการทำงานไร้คุณภาพของสำนักงานบัญชี

  • สวัสดีค่ะทุกท่านและยินดีต้อนรับสู่เรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับการบัญชี ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวเพื่อให้ทุกท่านเชื่อมั่นใน blog ของเราว่า ข้อมูลที่ได้เขียนนี้ เป็นข้อมูลที่ดิฉันได้ผ่านประสบการณ์งานทางด้านบัญชีและการเงินมาทั้งสิ้นมากกว่า 10 ปี ซึ่งตอนนี้กำลังจะลาออกจากงานประจำและมาเปิดสำนักงานบัญชีเพื่อรับทำบัญชีเอง ซึ่งคิดว่าจะมีเวลาในการใช้ชีวิตมากขึ้น เนื่องจากได้พิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วว่า งานทุกที่ถ้าเป็นงานด้านบัญชีนั้น เหนื่อยเหมือนกันหมด เพราะเป็นส่วนงานที่ค่อนข้างมีความสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริหาร.. ตัวดิฉันเองได้มีการเตรียมตัวในการจะเปิดสำนักงานบัญชีของตัวเองมานานแล้ว จึงทำงานโดยเปลี่ยนบริษัททุกปี เพื่อทำการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำงานด้านบัญชี และเรียนรู้ในแต่ละธุรกิจ เนื่องจากการทำบัญชีนั้น ในแต่ละธุรกิจจะทำบัญชีไม่เหมือนกัน หรืออาจเรียกได้ว่าแตกต่างกันบ้างในบางส่วน โดยเฉพาะการทำต้นทุน

  • ข้อมูลที่จะเปิดเผยใน blog นี้ เป็นมุมมองของดิฉัน ที่คิดว่าจะถ่ายทอดประสบการณ์ออกมาในลักษณะที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้ที่ไม่เคยทำงานด้านบัญชีหรือทุกท่านที่กำลังคิดจะมีกิจการเป็นของตนเอง ต้องการเปิดบริษัท ต้องการทำธุรกิจ แต่คุณยังไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลย เชิญมาทางนี้ ดิฉันจะถ่ายทอดความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานให้กับทุกท่านให้เข้าใจได้ง่าย และทำได้จริง

  • เอาเป็นว่าเรื่องแรกที่จะเปิดประเด็นในครั้งนี้ เรามาดูถึงการทำงานของคนในสำนักงานบัญชีกันดีกว่าว่า ในสำนักงานบัญชีที่ดิฉันได้ผ่านงานมานั้น เค้าดำเนินงานกันอย่างไร

  • เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้วดิฉันเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานบัญชีที่ทำบัญชีให้ลูกค้า โดยสำนักงานบัญชีนี้ นักบัญชีทั้งหลายจะทราบดีว่า งานหนัก และเงินเดือนน้อย แต่ดิฉันเองก็ต้องเริ่มต้นทำงานที่สำนักงานบัญชีเพื่อเรียนรู้การทำงานเต็มรูปแบบ เพราะนักบัญชีทุกท่านก็ทราบดีอีกว่า การทำงานในสำนักงานบัญชีนั้น เราจะได้ปิดงบ ได้ทำงานที่ประสานงานกับกรมสรรพากร ประกันสังคม คือเรียกได้ว่าทำงานครบวงจรกันทีเดียว เพราะเจ้าของสำนักงานก็คงใช้เราให้คุ้มด้วย (ในความคิดของดิฉัน) ดังนั้นดิฉันจะขอแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนน่าจะสนุก ให้เรื่องราวเป็นเหมือนนิยายบัญชีเล่มหนึ่งก็ท่าจะน่าติดตาม แต่ทั้งนี้อาจต้องขออภัยท่านผู้อ่านมา ณ ที่นี้เนื่องจากดิฉัน (ขอเรียกแทนตัวเองว่านักบัญชี) เองนั้นนี่เป็นครั้งแรกที่กำลังจะพยายามถ่ายทอดความรู้ออกมาในรูปแบบตัวหนังสือ ดังนั้นถ้าการเรียบเรียงหรือสำนวณไม่เป็นมืออาชีพ ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้นะคะ

  • ต่อไปนี้ เราจะมาคุยกันในเรื่องราวความรู้ ความสนุก กันอย่างกระชับและเข้าใจง่าย ในเรื่องราวเกี่ยวกับงานทางด้านบัญชีที่ทุกท่านคิดกันว่ามักยุ่งยาก